20-23 พฤศจิกายน 2567

AI หมัดเด็ดที่ช่วยพลิกเกมและสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจ

 

• AI แผลงฤทธิ์ ขึ้นแท่นเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่อุตสาหกรรมการผลิตต้องพึ่งพาในการชี้เป็นชี้ตายความอยู่รอดและโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาว

• การวิเคราะห์ที่ชาญฉลาดของ AI นำไปสู่การคาดการณ์ที่แม่นยำ และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ผลิต เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงเป้า

• กระบวนการผลิตที่ราบรื่น ต่อเนื่อง และลดการสูญเสียในทุกด้าน จะสร้างแต้มต่อให้กับผู้ผลิตได้

 

 

ผลกระทบของ AI ในอุตสาหกรรมการผลิตกำลังเปลี่ยนแปลงเกมธุรกิจไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำที่มีวิสัยทัศน์หลายแห่งได้นำ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตให้ยอดเยี่ยมกว่าเคย รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการทำงาน ตลอดจนลดการสูญเสียต่างๆ

 

การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในภาคการผลิตกำลังเติบโตขึ้น เนื่องจากการใช้ระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตและความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการรวมข้อมูลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ภาคการผลิตยังถูกขับเคลื่อนจากการใช้กล้องวิชันซิสเต็ม (Vision System) ที่เพิ่มขึ้นในการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตรวจสอบเครื่องจักร ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายวัสดุ และการควบคุมคุณภาพและความถูกต้องของสินค้า เป็นต้น

 

สำหรับแนวโน้มการนำ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตนั้นเกิดขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม เภสัชกรรม การผลิตโลหะหนักและเครื่องจักร เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก และอื่นๆ ด้วยโซลูชันการผลิตที่ใช้ AI จะช่วยผู้ผลิตในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และการรวมส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน

 

 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ Danone Group ผู้ผลิตอาหารจากฝรั่งเศสใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์สินค้า คาดการณ์ความต้องการของลูกค้า โดยเป็นการคาดการณ์ความต้องการในตัวสินค้าหรือการบริการลูกค้าในอนาคต (Demand Forecasting) ทำให้คาดการณ์ผิดพลาดลดลง 20% ยอดขายที่หายไปลดลง 30% และลดภาระงานของผู้วางแผนความต้องการของลูกค้าลง 50%

 

ด้าน Fanuc บริษัทระบบอัตโนมัติของญี่ปุ่น ใช้หุ่นยนต์ในการดำเนินงานโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยหุ่นยนต์สามารถผลิตส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับ CNC (เครื่องจักรกลแบบอัตโนมัติ) และมอเตอร์สำหรับใช้งานเครื่องจักรในกระบวนการผลิตทั้งหมดได้โดยไม่หยุด และช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการทำงานทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วน Porsche ใช้ยานพาหนะนำทางอัตโนมัติ (AGV) เพื่อทำให้ขั้นตอนสำคัญของกระบวนการผลิตยานยนต์เป็นแบบอัตโนมัติ โดยสามารถนำชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์จากสถานีแปรรูปหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่งได้ ขจัดความจำเป็นในการแทรกแซงของมนุษย์ และทำให้โรงงานมีความยืดหยุ่น หรือผลิตได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ ไม่หยุดชะงักจากปัจจัยภายนอกต่างๆ  เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นต้น

 

 

ทุกวันนี้ AI สามารถประมวลผลและตีความข้อมูลปริมาณมหาศาลจากพื้นที่การผลิตเพื่อระบุรูปแบบ วิเคราะห์และคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภค ตรวจจับความผิดปกติในกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ และอื่นๆ ช่วยให้ผู้ผลิตมองเห็นการดำเนินการด้านการผลิตทั้งหมดในทุกโรงงานของบริษัทฯ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ใดในโลกนี้ ด้วยอัลกอริธึมแมชชีนเลิร์นนิง ระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI นี้ยังสามารถเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

 

ยิ่งหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้การทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลของผู้ผลิตหลายรายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสามารถดังกล่าวของ AI มีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นต่อผู้ผลิตที่มุ่งมั่นจะกลับมายืนหยัดและเติบโตต่อไปอนาคตอย่างแข็งแกร่ง

 

McKinsey ระบุว่าบริษัทต่างๆ ที่ใช้ AI ประหยัดต้นทุนและมีรายได้มากขึ้น โดย 16% พบว่ามีต้นทุนลดลง 10-19% ในขณะที่ 18% มีรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้น 6-10% ขณะที่รายงานจาก Research and Markets ระบุว่าปีที่ผ่านมาเอเชียมีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดนี้ ส่วนในปี 2565 ตลาด AI ในการผลิตทั่วโลกมีมูลค่า 18.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะมีมูลค่าสูงถึง 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2571