20-23 พฤศจิกายน 2567

การแปลงเป็นดิจิทัล (Digitization) ของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมโลหการ ตอบโจทย์ทั้งประสิทธิภาพและความยั่งยืนได้อย่างไร

 

• สารพัดปัจจัยภายนอกที่กลายเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโลหการต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

• เพื่อเอาชนะความท้าทาย ต้องเพิ่มศักยภาพในทุกมิติให้กับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมโลหการด้วยการแปลงเป็นดิจิทัล

• การแปลงเป็นดิจิทัลช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโลหการ จากการตรวจสอบแบบเรียลไทม์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ระบบอัตโนมัติ การตรวจสอบย้อนกลับ และการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบไร้รอยต่อ

 

 

แทบจะไม่มีวันไหนเลยที่อุตสาหกรรมโลหการจะไม่ตกเป็นข่าวพาดหัว ตั้งแต่การโจมตีทางไซเบอร์แบบกำหนดเป้าหมาย ความผันผวนของราคา วิกฤตเซมิคอนดักเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้อุปสงค์และอุปทานของโลหะแกว่งไปมา ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาระยะยาว เช่น ความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิภายในปี 2593 ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การวางแผนห่วงโซ่อุปทานจึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะพิชิตความท้าทายเหล่านี้

 

ในขณะที่มีความแตกต่างมากมายระหว่างการดำเนินงานของบริษัทเหล็ก บริษัทอลูมิเนียม หรือบริษัทโลหะอื่นๆ แต่ก็มีความท้าทายร่วมกันของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโลหการ นั่นก็คือการรับประกันความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ประสิทธิภาพในการผลิต และการเพิ่มผลกำไรไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

 

การแปลงเป็นดิจิทัลจึงเป็นโซลูชันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเชื่อมต่ออย่างชาญฉลาด มีประสิทธิภาพสูง และยั่งยืน โดยจะทำให้เกิดระบบนิเวศของห่วงโซอุปทานแบบบูรณาการอย่างสมบูรณ์ และโปร่งใสเต็มที่ สอดคล้องกับการศึกษาของ Deloitte และ Manufacturers Alliance ที่พบว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยปรับปรุงการมองเห็นห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มความโปร่งใสได้

 

นอกจากนี้ การผสานรวมเทคโนโลยีการติดตามเข้ากับระบบ ERP (ระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรที่เชื่อมต่อและรวมรวมข้อมูลทั้งหมดขององค์กรไว้ในระบบเดียวกัน) ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับผู้ผลิตโลหะ เพราะจะทำให้ทราบว่าสินค้า เช่น เหล็กม้วน จะถูกส่งมาถึงโรงงานเมื่อไหร่ ช่วยให้พนักงานคลังสินค้าสามารถขนสินค้าออกจากรถบรรทุกขนส่ง และเคลื่อนย้ายไปยังสายการผลิตได้โดยตรง แทนที่จะให้คนงานรอเป็นชั่วโมง

 

 

ต่อไปนี้คือศักยภาพของการแปลงเป็นดิจิทัลที่ช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหะการเอาชนะความท้าทายต่างๆ ได้

 

การตรวจสอบแบบเรียลไทม์ ด้วยการใช้เซ็นเซอร์และเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ ผู้ผลิตสามารถตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานได้แบบเรียลไทม์ ช่วยระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงของความล่าช้าและการหยุดชะงัก ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เช่น พลังงานและวัตถุดิบ ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง

 

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทาน เช่น หากพบว่าซัพพลายเออร์รายหนึ่งส่งของช้าอยู่เสมอ หรือกระบวนการบางอย่างใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้ผู้ผลิตโลหะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดของเสียได้

 

ระบบอัตโนมัติ การแปลงเป็นดิจิทัลยังช่วยให้การทำงานในขั้นตอนต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทานเช่น การจัดการสินค้าคงคลังและการปฏิบัติตามคำสั่งซื้อ เป็นไปอย่างอัตโนมัติมากขึ้น นำไปสู่ประสิทธิภาพที่มากขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง

 

การตรวจสอบย้อนกลับ การแปลงเป็นดิจิทัลยังช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้มากขึ้น การติดตามวัสดุและผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความยั่งยืนและปฏิบัติตามกฎระเบียบ

 

การทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ  การแปลงเป็นดิจิทัลช่วยให้การทำงานร่วมกันระหว่างซัพพลายเออร์ ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานราบรื่นมากขึ้น เมื่อทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันและสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโลหะ

 

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ EZDK หนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะและเหล็กแผ่นเรียบรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ นำระบบ Manufacturing Operations Management (MOM) ที่ปรับให้เหมาะกับกระบวนการผลิตโลหะมาใช้ ทำให้สามารถเข้าถึงแดชบอร์ดระบบการจัดการการผลิตได้ตลอด 24/7 และตลอดทั้งปีจากอุปกรณ์พกพาใดๆ ก็ตามแบบเรียลไทม์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้นำไปปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เป็นเลิศ

 

กล่าวโดยสรุป การแปลงเป็นดิจิทัลของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมโลหการช่วยให้บรรลุทั้งประสิทธิภาพและเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้

 

สำหรับผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวล่าสุดของอุตสาหกรรมโลหการ ขอเชิญร่วมขยายมุมมอง ร่วมสำรวจความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการผลิต รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่งาน "เมทัลเล็กซ์ 2024" ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2567 ที่ไบเทค บางนา ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล [email protected] หรือโทร 02 686 7222

 

แหล่งอ้างอิง