20-23 พฤศจิกายน 2567

สถานการณ์และเทรนด์อุตสาหกรรมโลหการในปี 2566 แข่งขันกันด้วยสารพันเทคโนโลยีและ ESG

 

• อุตสาหกรรมโลหการยังคงเติบโตดีโดยเฉพาะด้านการแปรรูปแผ่นโลหะ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิต การก่อสร้าง การบินและอวกาศ ยานยนต์ สถาปัตยกรรม อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร โทรคมนาคม

• จะมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยในการผลิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ IoT 

• ผู้ประกอบการไม่อาจละเลยการทำธุรกิจภายใต้กรอบ ESG เพราะเป็นสิ่งที่คู่ค้าและผู้บริโภคคาดหวัง และจะสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงให้กับธุรกิจ 

 

 

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหการควรเตรียมพร้อมสำหรับการชะลอตัวในปี 2566 หรือไม่? การเปลี่ยนแปลงไปสู่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นแนวโน้มสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะแรงงานได้จริงหรือ? การทำธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG เป็นเพียงทางเลือกหรือทางที่จำเป็นต้องเดิน เชิญร่วมกันค้นหาคำตอบผ่านเทรนด์และสถานการณ์อุตสาหกรรมโลหการประจำปี 2566

 

ตลาดนี้ยังคงแข็งแกร่งและมีพลวัต ทั้งยังคลาคล่ำไปด้วยผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่บางรายยังคงพยายามกลับมายืนหยัดอีกครั้งหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีแรงหนุนต่อโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตโลหะภัณฑ์ เพราะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำและเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตชิ้นงานโลหะที่มีรูปร่างเหมือนกันครั้งละจำนวนมาก 

 

ขณะที่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการผลิต การก่อสร้าง การบินและอวกาศ ยานยนต์ สถาปัตยกรรม อิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร โทรคมนาคม และอื่นๆ จะช่วยผลักดันการเติบโตของกลุ่มบริการแปรรูปแผ่นโลหะในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

โดยข้อมูลจาก Vantage Market Research ระบุว่าตลาดงานโลหะทั่วโลกมีมูลค่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 และคาดว่าจะสูงถึง 14,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2571 โดยอัตราเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 3.2% ในช่วงปี 2564 ถึง 2571

 

สำหรับโลหะเด่นอย่าง "อลูมิเนียม" คาดว่าจะยังคงมีราคาผันผวนต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาด้านโลจิสติกส์ ความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยังฝากรอยแผลขนาดใหญ่เอาไว้  ขณะที่ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงยังคงเป็นภัยคุกคามต่อการจัดหาอลูมิเนียม เนื่องจากเป็นโลหะพื้นฐานที่ใช้พลังงานมากที่สุดในการผลิต โดยใช้พลังงานมากกว่าทองแดงประมาณ 40 เท่า

 

หลังทราบถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมนี้ในภาพรวมแล้ว ลองมาดูเทรนด์ในอุตสาหกรรมโลหการที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2566 กันบ้าง 

 

 

1. "เทคโนโลยีดิจิทัล" ทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมโลหการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และทุกวันนี้มีการใช้ระบบดิจิทัลและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากกว่าที่เคย ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลและศักยภาพในการผลิตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดย International Data Corporation (IDC) รายงานว่าดิจิทัลจะครองอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2566 ด้วยการคาดการณ์ว่า 1ใน 3 ของบริษัทจะสร้างรายได้มากกว่า 15% จากผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและบริการภายในปี 2566 เทียบกับเพียง 1 ใน 6 ในปี 2563

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจของเครื่องมือดิจิทัล คือ Liquidtool Analyzer ที่ช่วยให้สามารถจับภาพกระบวนการตัดเฉือนโลหะโดยละเอียดและรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการที่โปร่งใส 

 

ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลก็นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน ทำให้นักขุดโลหะสามารถทำงานด้วยอัตราการผลิตที่สูงกว่าที่คาดไว้ได้ โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการระยะไกล (ROCs) 

 

2. Internet of Things (IoT) ช่วยลดต้นทุนการผลิต เทคโนโลยีที่ช่วยในการการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์และการตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรจะยังคงมีความสำคัญต่อการลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มความเป็นเลิศ ซึ่งการที่โรงงานทำการติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ รวมถึงเซนเซอร์ตรวจจับเพื่อวิเคราะห์ความเสียหาย วัดปริมาณและคุณภาพผลงานที่ออกมาด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อ IoT ทำให้ให้สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าชิ้นส่วนไหนจะต้องบำรุงรักษาเมื่อไหร่และอย่างไร 

 

โดยตามรายงานของ McKinsey Global Institute แนะนำว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้ถึง 25% ลดการหยุดทำงานโดยไม่ได้วางแผนได้ถึง 50% และยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรได้นานหลายปี นอกจากนี้ ในขณะที่บริษัทต่างๆ กำลังมองหาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความน่าเชื่อถือของเครื่องจักร เทคโนโลยีการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์จะมีบทบาทสำคัญในการลดความซับซ้อนของการบำรุงรักษาด้วย

 

 

3. "เทคโนโลยีหุ่นยนต์" เนื้อหอม เพิ่มบทบาทในการสร้างความเป็นเลิศด้านการผลิต ด้วยการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุและแนวโน้มการทำงานที่เปลี่ยนไป ผู้ผลิตจึงต้องเริ่มจัดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มระบบอัตโนมัติของกระบวนการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ในทำนองเดียวกัน โดยคาดว่าความต้องการระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมโลหการจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าภายในปี 2568

 

4. ต้องขับเคลื่อนด้วย ESG  การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ภูมิรัฐศาสตร์ ทุน และแรงงาน กำลังเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโลหะ ดังนั้นเราจะยังคงเห็นความต้องการสำหรับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมโลหการ ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย 

 

การผลิตที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่อง "ควรมี" อีกต่อไป แต่เป็น "สิ่งที่ต้องมี" ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ทรัพยากรน้อยลงและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านี้ หากผู้ประกอบการรายใดในอุตสาหกรรมโลหการสามารถนำหลักการของ ESG มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ย่อมทำให้เกิดแต้มต่อและโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น เช่น บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ “Green Steel Series” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมเหล็กในไทยกับเหล็กเอชบีม (เหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และแข็งแรงกว่าเหล็กรูปทรงอื่น) ที่ชดเชยการใช้พลังงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนลูกค้ากลุ่ม Green Construction 

 

สำหรับผู้ที่สนใจข่าวคราวล่าสุดในอุตสาหกรรมโลหการ โปรดติดตาม "เมทัลเล็กซ์ บล็อก" อย่างต่อเนื่อง และเตรียมตัวพบกับเทคโนโลยีและโซลูชั่นเพื่อการผลิตโลหการที่เปี่ยมประสิทธิภาพจากแบรนด์ชั้นนำ ที่งานเมทัลเล็กซ์ ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายนนี้ ที่ไบเทค บางนา!