20-23 พฤศจิกายน 2567

4 สถานการณ์/เทรนด์อุตสาหกรรมอลูมิเนียมไทยที่ต้องจับตา

 

• อุตสาหกรรมอลูมิเนียมเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่แบกรับศึกหนักมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า เมื่อเผชิญแรงกดดันสินค้าอลูมิเนียมจากจีนที่ตีตลาดไทยหนักขึ้น

• การผลิตโดยรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมรวมทั้งแผ่นและเส้นหน้าตัดในปี 2566 มีกำลังการผลิตรวม 710,000 ตัน แต่ผลิตจริง 478,000 ตัน เท่ากับ 67% ของกำลังผลิต มีมูลค่าการตลาดโดยรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท

 

 

1. ทิศทางที่ผู้ประกอบการจะเลือกเดินเกม หนึ่งในสามธุรกิจดาวรุ่งในปี 2567 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์คือ "ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ" ขณะที่ 1 ใน 3 ธุรกิจดาวร่วงในปีเดียวนี้คือ "สินค้าปล่อยคาร์บอนสูง" ซึ่ง "อลูมิเนียม" ไทยกำลังตกอยู่ในทางแยกนี้ โดยอลูมิเนียมทางเลือกอย่างอลูมิเนียมคาร์บอนต่ำ เป็นวัสดุสำคัญในการผลิตอีวี นั่นหมายความว่าอลูมิเนียมประเภทนี้จะเกาะกระแสและเป็นธุรกิจดาวรุ่งได้ ขณะที่อลูมิเนียมซึ่งเป็นสินค้าปล่อยคาร์บอนสูงที่กำลังจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดนจากคู่ค้าตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป จากสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเริ่มรายงานข้อมูล ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการและอาจจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปริมาณเหล็กส่งออกไปสหภาพยุโรปที่เข้าข่ายอยู่ที่ราว 1.25 แสนตัน หรือคิดเป็น 6% ของเหล็กส่งออกของไทยไปตลาดโลก

 

 

2. อลูมิเนียมติดอันดับ Top 15 สินค้านำเข้าสูงสุดของไทย ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า "อลูมิเนียมและของทำด้วยอลูมิเนียม" เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 15 อันดับแรกของไทยในเดือนมกราคม 2567 (ข้อมูลอัพเดทล่าสุด) โดยอยู่ในอันดับที่ 12 มีมูลค่า 14,369,922,528 บาท แต่ไม่ติด Top 15 ของสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกัน ด้านข้อมูลจาก ReportLinker ระบุว่าการนำเข้าอลูมิเนียมของไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน การส่งออกอลูมิเนียมของไทยคาดว่าจะสูงถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

 

3. แนวโน้มตลาดการอัดขึ้นรูปอลูมิเนียมในไทย มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่กว้างขึ้น ครอบคลุมกระบวนการอัดขึ้นรูปอลูมิเนียมทั้งหมด ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เป็นส่วนประกอบสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าอลูมิเนียม เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย โดยมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง จากปัจจัยขับเคลื่อนหลายประการ เช่น การก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการอัดขึ้นรูปอลูมิเนียมสำหรับส่วนประกอบต่าง ๆ ของอีวี เช่น แชสซี เฟรม และแผงตัวถัง ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและสมรรถนะของยานพาหนะดีขึ้น ตลอดจนการอัดขึ้นรูปอลูมิเนียมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแผงระบายความร้อนและเปลือกในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการพลังงานทดแทนได้กระตุ้นความต้องการการอัดขึ้นรูปอลูมิเนียมในระบบติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

 

 

4. สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยและการปรับตัวตามเทรนด์โลก สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในประเทศไทยเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมอลูมิเนียม ประเทศไทยมีระบบรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมอย่างครบวงจร โดยมีอัตราการรีไซเคิลถึง 91% ซึ่งสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ร่วมมือกับชมรมอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และผู้ผลิตอลูมิเนียม 11 ราย เพื่อกำหนดค่ามัธยฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เตรียมรับกลไกการปรับขอบเขตคาร์บอนของสหภาพยุโรป (CBAM) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังนำร่อง FTIX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

 

สำหรับผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวล่าสุดของอุตสาหกรรมโลหการ ขอเชิญร่วมขยายมุมมอง สำรวจความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการผลิต รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ และวัสดุอัจฉริยะที่จะนำมาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในโลก รวมถึงในเอเชีย และในอาเซียน ที่งาน "เมทัลเล็กซ์ 2024" ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2567 ณ ไบเทค บางนา

 

Sources