20-23 พฤศจิกายน 2567

5 เหตุผลที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหการ ควรลงทุนในเทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะ 4.0

 

การลงทุนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่เรามี 5 เหตุผลที่จะมาบอกคุณว่า เพราะเหตุใดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหการ จึงถึงเวลาที่ควรจะลงทุนในเทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะ 4.0 (Smart Factory 4.0) เสียที

 

1. เพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพ โรงงานที่คลาคล่ำไปด้วยเครื่องจักรหลากชนิด ต่างประเภท และทำหน้าที่แตกต่างกันนั้น มักจะสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ประกอบการ เพราะความหลากหลายที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะกระบวนการนี้มีความซับซ้อน หากขาดโซลูชั่นที่ดี ข้อมูลอาจยุ่งเหยิง หรือเลวร้ายสุดอาจถึงขั้นแปลผลผิดพลาด ซึ่งนั่นจะนำความเสียหายมาสู่ระบบการผลิตโดยรวมได้

 

2. เทคโนโลยี 5G พร้อมแล้ว ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ น่าเสียดายหากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมหลายรายยังเมินเฉยที่จะใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีการขยายเครือข่าย 5G มากเป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นรองก็แต่เพียงเกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (ข้อมูลจาก Open Signal) เพราะ 5G ช่วยให้การใช้งานที่มีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกันเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยังช่วยสนับสนุนให้กระบวนการควบคุมเครื่องจักรกับเครื่องจักร (M2M) สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนด้านแรงงาน และช่วยลดความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการการผลิตด้วย

 

3. ช่วยลดความผิดพลาดของมนุษย์ จากการที่กระบวนการต่างๆ ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า และดำเนินการโดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดความแม่นยำ โดยใช้ระยะเวลาในการทำงานที่สั้นลง และหากโซลูชั่นนั้นได้รับการออกแบบที่ดีพอ การทำงานในแต่ละขั้นตอนก็จะถูกตรวจสอบ เพื่อให้สามารถประเมิน และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

 

4. ง่ายต่อการบริหารจัดการและสามารถแสดงรายงานแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับบรรดาซัพพลายเออร์ และเครือข่ายโรงงานทั่วโลกได้ ทำให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น โอกาสในการปิดดีลได้ก็เร็วขึ้น

 

5. ได้รับสิทธิประโยชน์แบบเต็มๆ จากบีโอไอ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 มูลค่าอุตสาหกรรม 4.0 ทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ 90,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 219,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 16.5% (ข้อมูลจากGlobal Industry Analysts) แต่ทราบหรือไม่ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยมากถึง 70% ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 หรือต่ำกว่า และมีเพียง 28% เท่านั้นที่อยู่ในระดับอุตสาหกรรม 3.0 (ข้อมูลจากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ได้

 

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการปรับปรุงในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน ทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะ ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยต่างๆ ขณะเดียวกันก็ใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นมาตรการใหม่นี้ จึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมโลหการให้ก้าวสู่ระบบอัตโนมัติได้ โดยไม่ต้องแบกรับภาระแบบเต็มๆ

 

 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโลหการนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่ผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น เหล็ก จัดเป็นโลหะพื้นฐานที่จำเป็นต่อกิจกรรมการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทโดดเด่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าอุตสาหกรรม โลหการเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และหากบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้พร้อมใจกันดำเนินการปรับปรุงโรงงานให้กลายเป็นโรงงานอัจฉริยะ 4.0 ได้ทั้งหมด ย่อมส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศอย่างมหาศาล

 

โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากบีโอไอ หากลงทุนตามเกณฑ์ที่กำหนดในด้านต่างๆ เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Automation and Network Technology) การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด (Smart Operation) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร (Digital Technology in Production & Enterprise Processes) ก็คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง และก็ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วย

 

 

หากผู้ประกอบการรายใดสนใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ Smart Factory 4.0 สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 (วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม) และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม นั่นหมายความว่าคุณยังมีเวลาใคร่ครวญและไตร่ตรองให้รอบคอบว่า จะลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะอะไรบ้าง ลงทุนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในด้านนี้โดยตรง ที่พร้อมให้บริการแบบ One Stop Service ดีกว่าจับแพะชนแกะด้วยตัวเอง และหากคุณเป็น SMEs ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกขบวน เพราะบีโอไอได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มศักยภาพ และสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้ เพียงคุณลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนิติบุคคลถึง 2 เท่า พร้อมกับข้อเสนอในการผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการนั้นๆ

 

เพราะฉะนั้นในเมื่อทุกวันนี้โลกปรับแล้ว ผู้ประกอบการที่อยากจะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนก็ต้องเปลี่ยน mindset ด้วยว่า การลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพลิกโฉมสู่ Smart Factory 4.0 ไม่ใช่การลงทุนที่เกินความจำเป็น และถึงแม้อาจจะก่อเกิดหนี้สินบ้าง เพราะขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านจะต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ก็หมายถึงการลดต้นทุน ทั้งยังมีความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น อันจะนำมาซึ่งโอกาส และความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว ที่สำคัญหากได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมล่าสุดของบีโอไอดังกล่าวข้างต้น ยิ่งหมายถึงโอกาสทองที่คุ้มค่า และไม่ควรรีรออีกต่อไป

 

 

Smart Factory 4.0 ยังมีเรื่องเด่นประเด็นร้อนให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หากคุณผู้อ่านต้องการติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอื่นๆ ในโลกอุตสาหกรรม ต้องไม่พลาด METALEX Blogs ในครั้งต่อไปครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)