19-22 พฤศจิกายน 2568

เมื่อลมเปลี่ยนทิศ Sustainable Manufacturing มาแรง และไม่ใช่แค่สิ่งที่ควรทำ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องทำ

 

หมดยุคของผู้ผลิตที่มุ่งแต่กอบโกย เอาแต่ได้ เน้นแสวงหาผลกำไรเป็นที่ตั้ง เพราะยุคนี้ลมเปลี่ยนทิศแล้ว ทั้งคู่ค้า พันธมิตรธุรกิจ และผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลแบบรอบด้าน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่จำกัดถูกทำลายจนร่อยหรอ และอีกสารพันปัญหาที่รุมเร้าโลก ทำให้ปัจจุบัน "การผลิตที่ยั่งยืน" ฉายแสงเจิดจ้า กระทั่งกลายเป็นพันธกิจหลักขององค์กร ไม่ใช่แค่ซีเอสอาร์ที่ฉาบฉวยอีกต่อไป

 

 

การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) เป็นหนึ่งในเป้าหมายความยั่งยืน (SDG – Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ โดยหมายถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อพนักงาน ชุมชน และผู้บริโภค ตลอดจนก่อให้เกิดคุณค่าและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

การผลิตที่ยั่งยืนนั้นสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยลดต้นทุนและของเสีย ช่วยตอบสนองความต้องการหรือเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ใส่ใจโลกและเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพราะความยั่งยืนได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภคและผู้ซื้อองค์กรที่จะพิจารณารอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ขณะเดียวกัน การผลิตที่ยั่งยืนก็ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร/แบรนด์ ทำให้สาธารณชนเชื่อมั่นและไว้วางใจ รวมถึงสร้างศักยภาพและความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว

 

แม้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนอาจเป็นเรื่องยุ่งยากและต้องใช้การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็มีประโยชน์มหาศาลและคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะเพียงแค่เริ่มต้นก็นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ การใช้วัสดุที่สะอาดขึ้นโดยมีสารเคมีที่เป็นพิษและรุนแรงน้อยกว่าหรือไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายเลย จะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้นได้ทันที เพราะทำให้พนักงานมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงาน ในขณะที่นวัตกรรมการผลิตยังช่วยให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

 

 

ขั้นแรกในการเริ่มปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่ยั่งยืน คือการทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจความสำคัญของเป้าหมายนี้ร่วมกัน โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการวางแผนและออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รักษาและสร้างคุณค่าจากทรัพยากรที่มีในระบบให้ได้มากที่สุด ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ให้ได้นานที่สุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนทรัพยากรต่อเนื่องในระบบปิด โดยไม่มีการส่งของเสียออกนอกระบบ ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาทั้งต้นทุนการผลิตและลดการปล่อยมลพิษได้

 

อย่างไรก็ตาม การผลิตที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นจนจบเป็นสิ่งที่ท้าทาย ท่ามกลางปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและวิกฤตต่างๆ ที่คนทั้งโลกต้องเผชิญ ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างวิสัยทัศน์เพื่ออนาคตที่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ดังนั้นเพื่อให้ผู้ผลิตเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตที่ยั่งยืนโดยที่ยังคงสร้างผลกำไร บทความตอนหน้าจึงจะนำเสนอแนวทางต่างๆ ที่ผู้ผลิตสามารถเลือกนำไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองได้อย่างเหมาะสม