20-23 พฤศจิกายน 2567

TDIA เตรียมคลัสเตอร์พาผู้ประกอบการแม่พิมพ์ฝ่าวิกฤติ



“ช่วงโควิดนี้ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ถูกกระทบมาก เพราะงานมวลรวมน้อยลง แต่ก็ยังส่งออกได้อยู่” คุณบุญเลิศ ชดช้อย นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA) และ ประธานบริษัท ซี.ซี. ออโตพาร์ท จำกัด ตอบคำถามของทีมงาน เมทัลเล็กซ์ ในวันที่เข้าไปเยี่ยมคารวะ “เมื่อสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540  ซี.ซี. ออโตพาร์ท เคยตกงานเพราะ Assembly Line หยุดมาแล้ว เพราะตอนนั้นเรายังเป็น OEM 100% ซึ่งไม่มั่นคงในระยะยาว ถ้าเรายังอยู่ในวังวนของการเป็น OEM อย่างเดียว เวลาเกิดอะไรขึ้น แล้วเราพึ่งแต่ออเดอร์จากคนอื่น เราจะเสียหาย” บทเรียนนั้นทำให้ ซี.ซี. ออโตพาร์ท ลุกขึ้นมาขยายไลน์ธุรกิจ จากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มาเป็นเจ้าของแบรนด์อุปกรณ์ทันตกรรม ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเป็นผู้แสดงสินค้าที่ร่วมงานกับ เมทัลเล็กซ์ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

 

“ปัญหาของธุรกิจแม่พิมพ์ก็คือ เป็น One Man Show และลงทุนเกินตัว ต้นทุนจึงแพง สิ่งที่ผมต้องการผลักดันในฐานะนายกสมาคมฯ ก็คือ ปรับผู้ประกอบการให้เป็นสากลมากขึ้น จับกลุ่ม Start Up มารวมกันเป็นคลัสเตอร์ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้นำในการรับงานและกระจายงาน ส่วนบริษัทขนาดเล็ก ใครถนัดทำอะไรก็ทำอย่างนั้น ให้เกิดเป็นโมเดลใหม่ ที่จะทำให้มีเวลาทำงานต่อเดือนได้มากขึ้น” คุณบุญเลิศกล่าวถึงเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จในช่วงวาระที่ตนเป็นนายกสมาคมฯ นี้

สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านแม่พิมพ์และส่งเสริมผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสมาคมรวมทั้งสิ้น 362 บริษัท คุณบุญเลิศเล่าให้เราฟังถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติการณ์นี้ว่า “เรามีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการบรรเทาความเดือดร้อน มีการช่วยเหลือจากธนาคาร ให้หยุดชำระเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ และเรากำลังขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยจ่ายค่าแรง 50% สำหรับคนที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท"

“ส่วนเรื่องคลัสเตอร์ เราจะเลือกขึ้นมา 10-15 บริษัทเพื่อเข้าร่วมโมเดลนี้ เราจะนำเอาความรู้มาให้ จะมีการแนะนำในการลงทุนเครื่องจักร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเป็นผู้ออกแบบและประกอบแม่พิมพ์ได้เลย ซึ่งคลัสเตอร์นี้จะช่วยพาผู้ประกอบการให้ผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปได้”

ท่านที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการของสมาคม TDIA และบริษัท ซี.ซี. ออโตพาร์ท สามารถพบกับคุณบุญเลิศและบริษัท ซี.ซี. ออโตพาร์ท ได้ที่งาน เมทัลเล็กซ์ ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน นี้ ที่ ไบเทค บางนา


 

มุมมองชุบชีวิต พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

 

“ประธานบริษัทโตโยต้าพูดถึงโควิด-19 ว่าเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้บริษัทบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาน้อยลงแต่ให้ผลสัมฤทธิ์มากขึ้น รวมถึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ และพึ่งพาเทคโนโลยีเกือบเต็ม 100% ในการดำเนินธุรกิจ” อาจารย์ สมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน หรือ TGI เล่าให้ทีมงานเมทัลเล็กซ์ ฟังในวันที่เราเข้าไปเยี่ยมคารวะ

 

“การแพร่ระบาดทำให้ประธานโตโยต้าลดเวลาในการเดินทางไปถึง 80% ลดเวลาในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่างๆ 85% และลดเวลาในการประชุมภายในองค์กรลงได้ 30% ซึ่งช่วยลดปริมาณกระดาษที่ถูกนำมาใช้เป็นเอกสารการประชุมลงมากถึง 50%”1

 


“ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ อย่างในภาษาจีน คำว่า ‘วิกฤติ’ ก็มีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะเขียนด้วยอักษรสองตัวติดกัน ตัวแรกมาจากตัวแรกของคำว่า ‘อันตราย’ ตัวที่สองมาจากตัวแรกของคำว่า ‘โอกาส’ มุมมองของแต่ละสถานการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามองเห็นแต่คำว่า ‘อันตราย’ เราอาจจะเจอแต่ทางตัน แต่หากเราเปลี่ยนมุมมอง มองให้กว้างไกลขึ้น เราอาจจะเห็นโอกาสที่กำลังรออยู่”

และโอกาสก็เป็นสิ่งที่ TGI พร้อมมอบให้กับผู้ประกอบการ ในฐานะองค์กรนำในการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยการยกระดับเทคโนโลยี นวัตกรรมและบุคลากร  ด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมทั้งเครื่องจักรกลและแม่พิมพ์ ให้สามารถแข่งขันได้ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 

อาจารย์สมหวังเล่าว่า นอกจากการจัดสัมมนาให้องค์ความรู้แล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องการเตรียมการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์โควิด สามารถติดต่อ TGI เพื่อทำงานร่วมกัน โดยขณะนี้ TGI ได้คิดวางแผนรูปแบบทางธุรกิจใหม่เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ (ตามภาพ) โดยจะพิจารณาจากสิ่งที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้ว และสิ่งที่ควรต้องปรับเปลี่ยนหรือต้องมี ทั้งในแง่ของลูกค้า, ผลิตภัณฑ์, กระบวนการผลิต, เครื่องมือ และ ทีมงาน เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลใหม่ทางธุรกิจที่จะพาผู้ประกอบการข้ามผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อาจารย์สมหวังพูดถึงแนวคิดโดย รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพูดในระหว่างการทำ Digital Social Responsibility (DSR) ซึ่งเป็นโมเดลนำร่องของคณะฯ ที่ต้องการช่วยเหลือสังคมผ่านดิจิทัล โดยพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทำให้เกิด 4D 1H ขึ้น ได้แก่ Digital Life, Data, Distance, Health Conscious และ Domestic ซึ่ง D ตัวสุดท้ายนั้นพูดถึงความจำเป็นที่ธุรกิจต้องร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัย และ ค้าขายกันเองให้มากขึ้น2

“ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะต้องร่วมมือกัน เพราะการจะมานั่งคิดถึงทิศทางที่จะก้าวต่อไปอยู่ฝ่ายเดียวจะเป็นเรื่องยาก สถาบันไทย-เยอรมันจึงเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพราะการที่เรามาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ต่างคนต่างมีมุมมองที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการมาร่วมคิดไปด้วยกันที่ TGI หรือการไปพบปะกันกับคนในวงการอย่างในงานแสดงสินค้า เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และไอเดีย ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์” อาจารย์สมหวังกล่าว

การเผชิญหน้ากับวิกฤติอาจทำให้คนที่กำลังเหนื่อยมองเห็นได้แต่มุมลบจากสถานการณ์ แต่หากมีใครสักคนอย่าง TGI ที่ช่วยดึงมุมมองออกมาให้กว้างไกล หรือมอบมุมมองที่แตกต่างออกไป มุมบวกของสถานการณ์หรือคำตอบสำหรับปัญหาที่รออยู่บนทางข้างหน้า ก็น่าจะเด่นชัดและเดินเข้าหาได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม

“การปรับตัวต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง การจะข้ามผ่านวิกฤติการณ์ไปได้ก็อยู่ที่ว่าใครมองเห็นโอกาส ที่ TGI เรามีมุมมองใหม่ๆ ที่จะเล่าให้ผู้ประกอบการฟัง ดังนั้น เชิญแวะเข้ามาที่ TGI หรือไปพบเราที่งาน เมทัลเล็กซ์ เดือนพฤศจิกายนนี้ก็ได้ครับ” อาจารย์สมหวังกล่าวปิดท้าย

[ แหล่งอ้างอิง: ข้อมูลจาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ |ข้อมูลจาก นสพ. คมชัดลึก ]



TGI ยังมีโครงการอีกมากมายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อสังคมและอุตสาหกรรม

ซึ่งท่านสามารถติดตามได้จากเฟสบุ๊คของงานเมทัลเล็กซ์ที่ www.facebook.com/metalexpage และไลน์: @metalexexpo


 

หมายเหตุ!

METALEX” เป็นงานสำหรับการเจรจาธุรกิจ ผู้เข้าชมงานต้องแต่งกายสุภาพ สวมกางเกงขายาว หรือกระโปรง และรองเท้าหุ้มส้นเท่านั้น ไม่อนุญาตเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปีให้เข้าชมงาน ผู้จัดงานสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าชมงานได้ โดยไม่ต้องแจ้งเหตุผล